โรคติดต่อสำคัญในสุนัขป้องกันได้ด้วยวัคซีน
1. โรคไข้หัดสุนัข เป็นโรคติดต่อร้ายแรง ในสุนัขทุกช่วงอายุ แต่ลูกสุนัขจะมีความเสี่ยงต่อการติดโรคได้มากที่สุด
สาเหตุ: เชื้อไวรัส Paramyxovirus
การติดต่อ: ติดต่อทางการหายใจ ซึ่งเป็นช่องทางที่สำคัญที่สุดโดยเชื้อไวรัสจะปนเปื้อนออกมากับสิ่ง ขับถ่ายทุกชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำมูก ขี้ตาและน้ำลาย
อาการ: สุนัขที่ป่วยเป็นโรคนี้จะพบอาการป่วยได้ในหลายระบบของร่างกาย ซึ่งแบ่งอาการตาม ความรุนแรงได้ดังนี้
- ไม่รุนแรง: ซึม มีไข้ กินอาหารน้อยลง และมีภาวะแห้งน้ำ
- รุนแรง: มีน้ำมูก ขี้ตา ไอ หายใจลำบาก ท้องเสีย อาเจียน
- รุนแรงมาก: น้ำมูกและขี้ตาจะขุ่นข้นเป็นหนอง หายใจลำบากและไอ ปอดบวม ท้องเสีย อาเจียนรุนแรง อาจพบตุ่มบริเวณใต้ท้อง ผิวหนังบริเวณฝ่าเท้าหนาตัวขึ้น และอาจพบ อาการทางประสาท เช่น กล้ามเนื้อกระตุก โดยเฉพาะบริเวณปาก ชัก อัมพาต และตายในที่สุด
การรักษา : รักษาตามอาการ ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ค่อยจะประสบผลสำเร็จในการรักษา ดังนั้นการทำวัคซีนเป็นวิธีป้องกันการติดต่อโรคที่สำคัญ
2. โรคลำไส้อักเสบติดต่อ เป็นโรคติดต่อที่ร้ายแรงในสุนัข ซึ่งมีอัตราการตายสูงโดยเฉพาะในอายุน้อย
สาเหตุ : เชื้อไวรัส Canine Parvovirus
การติดต่อ : ส่วนใหญ่เกิดจากการกินอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อที่ออกมากับอุจจาระ
อาการ : ระยะแรกจะมีอาการซึม เบื่ออาหาร ไข้สูง อาเจียน ท้องเสียโดยอุจจาระมีสีเทาอ่อนหรือ เหลืองส้ม และเมื่ออาการรุนแรงขึ้นจะถ่ายเป็นเลือด มีกลิ่นคาวเฉพาะ ปวดเกร็งท้อง และ ลูกสุนัขจะเสียชีวิตอย่างรวดเร็ว เนื่องมาจากเชื้อไวรัสทำให้กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
การรักษา: รักษาตามอาการ แก้ไขสภาวะขาดน้ำ ลดอาการแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น
3. โรคพิษสุนัขบ้า เป็นโรคติดต่อร้ายแรงในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สามารถติดต่อมาสู่คนได้ ซึ่งหากถึงระยะแสดงอาการของโรคแล้วจะไม่สามารถรักษาให้หายได้และร้ายแรงถึงขั้นทำให้เสียชีวิต ในประเทศไทยสุนัขเป็นพาหะนำโรคที่สำคัญที่สุด
สาเหตุ: เชื้อไวรัส Rhabdovirus
การติดต่อ: ส่วนใหญ่ได้รับจากน้ำลายเข้าสู่บาดแผล และเยื่อเมือกต่างๆ เช่น ตา จมูก ปาก และอวัยวะเพศ
อาการ: ขึ้นกับขนาดและตำแหน่งของบาดแผลที่สัมผัสเชื้อ เพราะเชื้อไวรัสพิษสุนัขบ้าต้องใช้เวลา เดินทางจากบาดแผลแผ่นเส้นประสาทสู่สมอง ในคนใช้เวลาตั้งแต่ 10 วัน จนถึง 1 ปี และ สุนัขใช้เวลาตั้งแต่ 10 วัน จนถึง 2 เดือน
4. โรคตับอักเสบติดต่อ เป็นโรคที่พบได้ในสุนัขทุกช่วงอายุ พบบ่อยและรุนแรงในสุนัขอายุน้อย
สาเหตุ: เชื้อไวรัส Canine Adenovirus
การติดต่อ: กินอาหารที่ปนเปื้อนอุจจาระ ปัสสาวะ น้ำมูก และน้ำลายของสัตว์ป่วย
อาการ: ซึม เบื่ออาหาร อาเจียน ท้องเสีย ท้องมาน อาการจะรุนแรงมากในสุนัขอายุน้อย โดยจะพบต่อมน้ำเหลืองโต กระจกตาขุ่น และบางครั้งอาจพบอาการทางประสาทร่วมด้วย
การรักษา: รักษาตามอาการ ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของเชื้อและสุขภาพของสุนัข
5. โรคเลปโตสไปโรซิส เป็นโรคที่เกิดไดในสุนัขทุกช่วงอายุและสามารถติดต่อถึงคนได้
สาเหตุ : เชื้อแบคทีเรีย Leptospira spp.
การติดต่อ : สัมผัสกับปัสสาวะของสัตว์ป่วย โดยมีหนูเป็นตัวนำโรค ซึม มีไข้สูง ปัสสาวะมีเลือดปน ขาดน้ำ ดีซ่าน ปวดในช่องท้องอาจถึงตายได้
การรักษา : ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของเชื้อ และความไวในการตรวจสอบวินิจฉัย
6. โรคหวัดและหลอดลมอักเสบติดต่อ เป็นโรคติดต่อของระบบหายใจส่วนต้น
สาเหตุ: เกิดได้จากเชื้อไวรัสและแบคทีเรียหลายชนิดที่สำคัญและพบได้บ่อยได้แก่ Canine Parainfluenze Virus. Canine Adenovirus Types II, Bordetella bronchiseptica
การต่อต่อ: จากการไอ และสัมผัสเชื้อโรคที่กระจายในอากาศซึ่งจะติดต่อได้ง่ายในสถานที่ที่สุนัขอยู่ รวมกันจำนวนมา เช่น ในฟาร์มสุนัข งานประกวดสุนัข
อาการ: ไอเรื้อรังเป็นเวลาหลายสัปดาห์จนถึงเป็นเดือนแต่มักไม่อันตรายจนถึงแก่ชีวิต (ยกเว้น ติดเชื้อรุนแรงมากจนลุกลามไปยังปอดทำให้เกิดอาการปอดบวมได้) เบื่ออาหาร อ่อนแรง สุขภาพทรุดโทรม
การรักษา: ส่วนใหญ่จะประสบผลสำเร็จ
โปรแกรมวัคซีนแนะนำในสุนัข
อายุสุนัข ชนิดของวัคซีนที่ควรที่ได้รับ
5-6 สัปดาห์ - วัคซีนป้องกันโรคลำไส้อักเสบติดต่อและโรคไข้หัดสุนัข
7-8 สัปดาห์ - วัคซีนป้องกันโรคลำไส้อักเสบติดต่อและโรคไข้หัดสุนัข
8-10 สัปดาห์ - วัคซีนรวม 5 โรค ป้องกันโรคลำไส้อักเสบติดต่อ ไข้หัดสุนัข ตับอักเสบติดต่อ หวัดและหลอดลมอักเสบติดต่อ และโรคเลปโตสไปโรซิส
12-16 สัปดาห์ - วัคซีนรวม 6 โรค ป้องกันโรคลำไส้อักเสบติดต่อ ไข้หัดสุนัข ตับอักเสบติดต่อ หวัดและหลอดลมอักเสบติดต่อ โรคเลปโตสไปโรซิส แลโรคพิษสุนัขบ้า
ทุกๆ 1 ปี - วัคซีนรวม 6 โรค ป้องกันโรคลำไส้อักเสบติดต่อ ไข้หัดสุนัข ตับอักเสบติดต่อ หวัดและหลอดลมอักเสบติดต่อ โรคเลปโตสไปโรซิส แลโรคพิษสุนัขบ้า
หมายเหตุ * การปรับเปลี่ยนโปรแกรมวัคซีนขึ้นอยู่กับดุลพินิจของสัตวแพทย์ และการพิจารณาถึงสถานการณ์การระบาด ของโรค