โรคขี้เรื้อนในสุนัขและแมว

 

1. ขี้เรื้อนแห้ง (Sarcoptes)

สาเหตุ

เกิดจากไรขี้เรื้อนชนิด Sarcoptes scabiei var canis พบได้บ่อยในสุนัข แต่พบน้อยในแมว โรคนี้มีความสำคัญในแง่สาธรณสุข เนื่องจากเป็นโรคสัตว์สู่คน สามารถติดต่อจากสัตว์เลี้ยงสู่เจ้าของได้โดยการสัมผัส 

อาการของโรคขี้เรื้อนแห้ง

- คันมาก ขนร่วง มีผื่นหนาแดง

- อาการเริ่มต้นจะรุนแรงมากอย่างรวดเร็ว เนื่องจากสุนัขคัน และเกา เกิดผิวหนังอักเสบและติดเชื้อตามมา

- มักจะเริ่มบริเวณ ขอบหู ขอบปาก ข้อพับ

- ในรายการที่เป็นรุนแรงจะพบการกระจายของรอยโรคทั่วร่างกายหากไม่ได้รับการรักษา อาจทำให้สุนัขเคลื่อนไหวลำบาก ซึม เบื่ออาหาร และตายได้

การวินิจฉัย

- ทำได้โดยการขูดตรวจผิวหนังร่วมกับการพิจารณาอาการที่แสดงอกทางผิวหนัง ได้แก่ อาการคัน การเกิดผิวหนังอักเสบชนิดต่างๆ มีตุ่มหนอง ผื่นแดง รังแค

การป้องกันและรักษา

- ปัจจุบันมียาหยดหลัง ที่สามารถรักษาปัญหาขี้เรื้อนแห้งได้ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่คลินิกสัตวแพทย์หรือโรงพยาบาลใกล้บ้านท่าน

- กรณีที่เป็นสุนัขขนยาวให้ตัดขนให้สั้น และควรใช้แชมพูเพื่อการขจัดรังแค

- ใช้ยาฆ่าไรขี้เรื้อนผสมน้ำอาบทุกสัปดาห์

 

2. ขี้เรื้อนเปียก (Demodex)

สาเหตุ

โรคขี้เรื้อนเปียก หรือโรคเรื้อนรูขุมขน เป็นโรคผิวหนังที่เกิดจากไรขี้เรื้อนที่มีชื่อว่า Demodex canis อาศัยอยู่ในรูขุมขนของสุนัขสามารถตรวจพบได้แม้จะไม่แสดงอาการทางผิวหนัง มีรายงานว่าลูกสุนัขที่เกิดใหม่จะได้รับไรขี้เรื้อนชนิดนี้จากแม่หลังจากเกิดได้ไม่กี่วัน

อาการของโรคขี้เรื้อนเปียก มี 2 แบบ

1. แบบเฉพาะที่ มักพบบริเวณแก้ม เหนือคิ้ว ขาหน้า โดยสุนัขจะมีอาการ ขนร่วง ผิวหนังแดงคันและเกา มีแผลอักเสบเป็นตุ่มแดงๆ เล็กๆ ตามปกติแล้วรอยโรคจะเกิดขึ้นเองและจะหายไปเองได้ภายใน 3-8 สัปดาห์ แต่ถ้ามีอาการอักเสบมีตุ่มหนองแตกด้วยต้องรีบพาสุนัขมารับการรักษาอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะหาย

2. แบบกระจายเป็นบริเวณกว้าง มักพบว่าสุนัขตัวที่เป็นจะมีการอักเสบของผิวหนังรุนแรงมาก มีขนร่วง มีตุ่มหนองแตกออก เป็นแผลคันเกา รอยโรคพบได้ตั้งแต่ส่วนของใบหน้า ลำตัว ขา และเท้า มีอาการอักเสบของรูขุมขนจนมีเลือดออก มักเป็นกระจายทั่วตัวทำให้การรักษาได้ลำบาก

การวินิจฉัย

  1. ทำได้โดยการขูดตรวจผิวหนังชั้นลึก ร่วมกับการพิจารณาอาการที่แสดงออกทางผิวหนัง ได้แก่ การเกิดผิวหนังอักเสบชนิดต่างๆ มีตุ่มหนองผื่นคัน รังแค 
  2. การวินิจฉัยโดยการตรวจชิ้นเนื้อ อาจจะมีความจำเป็นในบางสายพันธุ์

การป้องกันและการรักษา 

1. ปกติโรคนี้เป็นโรคผิวหนังที่ต้องใช้เวลาหลายเดือนและต้องได้รับการตรวจเป็นระยะมักเป็นโรคที่มีหลายสาเหตุเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น สุนัขที่มีสุขภาพอ่อนแอ ภูมิคุ้มกันตก หรือจากฮอร์โมนเพศอาจจะต้องให้สุนัขทำหมันเพื่อป้องกันการเกิดโรคแบบรุนแรง ในกรณีที่มีการติดเชื้อรุนแรงที่ผิวหนังอาจมีความเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะร่วมด้วย 

2. ปัจจุบันมีการรักษาที่มีประสิทธิภาพดี สะดวก ปลอดภัย และได้ทะเบียนในการใช้รักษาขี้เรื้อนเปียกอย่างถูกต้อง คือการใช้ยาหยดหลัง หยดเดือนละครั้ง (ในกรณีที่ไม่รุนแรง) หรือหยดสัปดาห์ละครั้ง (ในกรณีที่รุนแรง) เพื่อใช้ในการรักษาและควบคุมการเพิ่มจำนวนของไรขี้เรื้อนเปียก ช่วยลดปัญหาการเกิดโรคได้ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่คลินิกสัตวแพทย์ หรือโรงพยาบาลสัตว์ใกล้บ้านท่าน