โรคที่ควรรู้ในแมว สำหรับผู้เลี้ยงแมวทุกคนเพื่อจะได้รู้เท่าทันและสามารถป้องกันโรคเหล่านี้ได้ โรคที่ควรรู้ในแมวมีดังนี้
1. โรคไข้หัดแมว หรือโรคลำไส้อักเสบติดต่อในแมว
เกิดในแมวทุกอายุ พบมากในแมวอายุต่ำกว่า 1 ปี และไม่เคยได้รับวัคซีน แมวจะติดเชื้อโดยการกินสิ่งปนเปื้อนกับอุจจาระที่มีเชื้อ
อาการที่พบ คือ มีไข้ เบื่ออาหาร อาเจียน ท้องเสีย แสดงสภาวะขาดน้ำ อ่อนเพลีย ตัวสั่น เดินไม่ตรง อาจตายได้ ภายใน 1 สัปดาห์ อาจพบการติดเชื้อก่อนคลอดในช่วงกลางหรือท้ายของการตั้งท้องและเกิดการแท้งได้
2. โรคระบบทางเดินหายใจในแมวหรือโรคหวัดแมว
แพร่เชื้อโดยละอองจากการไอหรือจาม หรือสัมผัสโดยตรงกับแมวป่วย
แมวที่ติดเชื้อ Rhinotracheitis virus จะแสดงอาการไอ จาม มีน้ำมูก น้ำตาไหล เยื่อบุตาอักเสบ อาจพบแผลหลุมที่กระจกตา ช่องปาก และลิ้น ในแมวที่ตั้งท้อง
อาจพบการแท้งเนื่องจากภาวะทรุดโทรมจากการป่วย ส่วนแมวที่ติดเชื้อ Calicivirus จะแสดงอาการไม่กินอาหาร อ่อนเพลีย มีไข้ มีน้ำตาใสๆ มีหรือไม่มีน้ำมูก อาจเกิดอาการรุนแรง ถึงขั้นเดินกะแผลก ขาแข็ง เจ็บกล้ามเนื้อได้
3. โรคติดเชื้อคลามัยเดียในแมว
ติดต่อโดยการสัมผัสโดยตรงกับแมวป่วย
อาการที่พบ คือ เยื่อตาอักเสบหรือตาแดง น้ำตาไหล ร่วมกับอาการอักเสบของทางเดินหายใจส่วนต้นอย่างอ่อนๆ
4. โรคมะเร็งของเม็ดเลือดในแมว
ติดต่อโดยการสัมผัสกับน้ำลาย ปัสสาวะ และอุจจาระของแมวป่วย
เกิดจากเชื้อไวรัสทำลายเซลล์ในระบบการสร้างภูมิคุ้มกัน ทำให้แมวติดเชื้ออื่นตามมา และก่อให้เกิดมะเร็งบางชนิดในแมว เช่น มะเร็งเม็ดเลือด และมะเร็งต่อมน้ำเหลือง
แมวบางตัวอาจมีภูมิต้านทานจนไม่แสดงอาการและกำจัดเชื้อไปได้ แมวป่วยจะมีสุขภาพอ่อนแออย่างต่อเนื่อง หรือเจ็บป่วยจากการติดเชื้อโรคนี้
5. โรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบติดต่อ
เกิดจากเชื้อไวรัส ติดต่อทางช่องปากและจมูกจากการสัมผัสน้ำลาย หรืออุจจาระของสัตว์ป่วย หรือสิ่งที่ปนเปื้อนเชื้อนี้ เช่น ชามอาหาร ที่นอน
การสัมผัสเชื้อครั้งแรกจะไม่ทำให้เกิดอาการเด่นชัด อาจพบปัญหาระบบทางเดินหายใจส่วนต้น จาม น้ำมูก น้ำตาไหล หรือท้องเสีย
อาการหลักมี 2 แบบ ส่วนใหญ่จะพบแบบเปียก คือ มีการสะสมของของเหลวในช่องท้องหรือช่องอก ส่วนแบบแห้งจะมีอาการซึม น้ำหนักลด โลหิตจาง และเป็นไข้ ยังไม่มีการรักษาที่ได้ผล จึงควรป้องกันก่อนเกิดโรค
6. โรคภูมิคุ้มกันบกพร่องในแมว หรือโรคเอดส์แมว
เกิดจากเชื้อไวรัส มักติดต่อจากการกัดกันของแมวที่เป็นโรค เชื้อไวรัสจะไปทำลายระบบภูมิคุ้มกันของแมวให้เสียไปเรื่อยๆ จนไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อแทรกซ้อนอื่นๆได้
อาการที่พบ คือ มีไข้ น้ำหนักลด เบื่ออาหาร มีการบวมอักเสบของต่อมน้ำเหลือง บริเวณต่างๆ อาจมีการป่วยจากการติดเชื้อแทรกซ้อนเรื้อรัง
โรคพิษสุนัขบ้า เกิดจากเชื้อไวรัสที่เข้าสู่ระบบประสาท ติดต่อโดยการสัมผัสน้ำลาย แมวที่ติดเชื้อส่วนใหญ่จะมีอาการน้ำลายไหลยืด ม่านตาขยาย ขนยุ่ง ไล่กัดแมวตัวอื่น รวมทั้งเจ้าของ บางตัวอาจมีอาการเพียงแค่ซึม สัตว์เลี้ยงทุกตัวที่แสดงอาการของโรคแล้วจะตาย ไม่มีทางรักษาหาย สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิดรวมทั้งมนุษย์ สามารถติดเชื้อไวรัสนี้ได้
วิธีป้องกันโรคที่เป็นอันตรายต่อแมว
โรคที่เป็นอันตรายต่อแมว สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน เพราะการฉีดวัคซีนมีประโยชน์ดังนี้
1. การฉีดวัคซีนเป็นวิธีที่ดีที่สุด และประหยัดที่สุดในการป้องกันโรค
2. วัคซีนจะมีเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย ที่เป็นสาเหตุของโรค แต่ได้รับการเปลี่ยนแปลงจนไม่สามารถทำให้เกิดโรคได้ เมื่อแมวได้รับการฉีดวัคซีน ร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกัน ซึ่งจะทำหน้าที่ต่อต้านเชื้อที่ก่อโรคขึ้นมา เมื่อแมวสัมผัสกับโรคนั้นในเวลาต่อมา ร่างกายจะทำลายเชื้อที่ก่อโรคนั้นอย่างรวดเร็ว
3. หลังการฉีดวัคซีนเข็มแรก ร่างกายจะยังมีการสร้างภูมิคุ้มกันได้ไม่สูงพอ หรือลูกแมวอาจจะยังมีภูมิคุ้มกันจากแม่อยู่ทำให้การสร้างภูมิคุ้มกันจากการฉีดวัคซีนเกิดขึ้นได้ไม่ดีนักจึงต้องมีการฉีดวัคซีนกระตุ้นอีก 1 - 2 เข็ม ห่างกันเข็มละ 2 - 4 สัปดาห์ เพื่อให้ร่างกายมีการสร้างภูมิคุ้มกันได้สูงพอที่จะช่วยป้องกันโรคได้
โปรมแกรมการฉีดวัคซีน ป้องกันโรคที่เป็นอันตรายต่อแมว
แมวอายุ 8 สัปดาห์ : ฉีดวัคซีนรวม ป้องกันโรคหัด หวัดแมว โรคติดเชื้อคลามัยเดีย
แมวอายุ 10 สัปดาห์ : วัคซีนป้องกันโรคภูมิคุมกันบกพร่องในแมว
แมวอายุ 12 สัปดาห์ : วัคซีนรวมป้องกันโรคหัด หวัดแมว โรคลิวคีเมีย และวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า
แมวอายุ 14 สัปดาห์ : วัคซีนป้องกันโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องในแมว
แมวอายุ 16 สัปดาห์ : วัคซีนป้องกันโรคลิวคีเมีย และวัคซีนป้องกันโรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบติดต่อ
แมวอายุ 18 สัปดาห์ : วัคซีนป้องกันโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องในแมว
แมวอายุ 20 สัปดาห์ : วัคซีนป้องกันโรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบติดต่อ