สร้างเงินเดือนคงที่ให้เป็นเงินรายได้ที่เพิ่มขึ้น

 

          ในช่วงที่เศรษฐกิจไม่ค่อยจะดีเท่าไหร่ข้าวยากหมากแพงรายรับเท่าเดิม รายจ่ายเพิ่มขึ้น หลายๆคนก็คิดๆว่าทำอย่างไรรายรับถึงจะเพิ่มมากขึ้น ก็คงจะหนีไม่พ้นเรื่องของการลงทุน แต่การลงทุนนั้นมีความเสี่ยง คนที่ไม่ใช่นักธุรกิจที่มีรายรับเข้ามาในแต่ละวัน หรือคนที่มีเงินเดือนเป็นรายรับคงที่  คงไม่ค่อยเสี่ยงในเรื่องของการลงทุน ตรงจุดนี้เองที่เราต้องมานั่งคิดว่าจะทำอย่างไรให้เรามีเงินเดือนเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม หรือมีรายรับเพิ่มขึ้นในแต่ละเดือน คราวนี้เรามามองย้อนกลับไปว่าหากเราคิดจะลงทุนอะไรสักอย่าง มันคงต้องเป็นการใช้เงินทุนที่มากพอสมควร แล้วเราก็ไม่รู้ว่าลงทุนไปแล้วจะขาดทุนหรือไม่ นี่คือปัญหาสำหรับคนมีรายรับเป็นเงินเดือน เพราะถ้าหากพูดถึงเงินลงทุนแล้วสำหรับคนกลุ่มนี้แทบจะไม่มีเลย เพราะรายรับที่ได้ในแต่ละเดือนเป็นเงินรายรับที่คงที่ ไม่ว่าค่าเงินบาทจะลอยตัว หรือแข็งตัว สุดท้ายแล้วเงินเดือนก็ได้เท่าเดิม ยิ่งถ้าเจอเศรษฐกิจย่ำแย่ ข้าวยากหมากแพงแล้วละก็ รับรองว่าเงินเดือนจะยิ่งมีเหลือไม่พอใช้ เพราะรายรับเท่าเดิมแต่รายจ่ายเพิ่มขึ้น เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว เราจะทำอย่างไรให้เงินเดือนที่ได้รับเพิ่มขึ้น ซึ่งมีวิธีการง่ายๆคือ นำเงินเดือนที่ได้รับในแต่ละเดือนมาทำการคำนวณ

โดยแบ่งเงินออกเป็น 4 ส่วน ส่วนแรกเป็นเงินออม  ส่วนที่สอง เป็นเงินค่าใช้จ่ายตลอดเดือน ส่วนที่สามเป็นเงินชำระหนี้ต่างๆ เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ  ค่าโทรศัพท์ และส่วนที่สี่เป็นเงินสำหรับค่ายา ค่ารักษาพยาบาล เป็นต้น คราวนี้เราก็มาดูในส่วนของเงินที่สามารถสร้างรายได้ให้เรา หากมองดูแล้วจากสี่ส่วนของเงินเดือนที่เราแบ่งไว้  เงินที่สามารถสร้างรายได้ให้กับเรา คือเงินออม และเงินสำหรับค่ายาค่ารักษาพยาบาล เมื่อเราแยกได้ดังนี้แล้วเราจะทำอย่างไรล่ะให้เป็นเงินที่มีรายได้ที่เพิ่มขึ้น เราจึงขอแบ่งเป็น 2 กรณี คือ กรณีแรก สำหรับคนที่ความกล้าลงทุนที่มีความเสี่ยง และ กรณีที่สองสำหรับคนที่ไม่ชอบการลงทุนที่มีความเสี่ยง ซึ่งเราจะต้องมาวิเคราะห์ว่าทั้ง 2 กรณีนี้ต่างกันอย่างไร

กรณีแรก คือ เหมาะสำหรับคนที่กล้าลงทุนพร้อมที่จะเสี่ยงทุกเมื่อ กรณีนี้กำไรเยอะ รายรับเยอะ และก็ขาดทุนเยอะเช่นกัน เมื่อเรานำเงินออมที่เราเก็บสะสมไว้ ได้พอประมาณแล้วเราก็นำมาลงทุนทำให้มีดอกมีผล เช่น

 

1. การลงทุนทำธุรกิจเล็กๆเพื่อสร้างรายได้ให้กับตนเอง อย่างเช่น การซื้อแฟรนไชส์ด้านการบริโภค เช่น น้ำผลไม้ ไอศกรีม ก๋วยเตี๋ยว ข้าวมันไก่ ไก่ย่าง เป็นต้น สาเหตุที่แนะนำให้ลงทุนซื้อแฟรนไชส์ด้านการบริโภค  เพราะ อาหารเป็นปัจจัยในการดำรงชีวิตของทุกคน และอีกหนึ่งเหตุผลที่แนะนำให้ทำการลงทุนด้วยการซื้อแฟรนไชส์มาลงทุน เพราะเป็นธุรกิจกะทัดรัดเหมาะสำหรับคนที่มีเงินเดือนเป็นรายรับ อีกอย่างหนึ่งที่เราต้องพึงจดจำไว้คือ เราไม่มีเวลา การซื้อแฟรนไชส์มาลุงทุนเราอาจจะทำในระยะเวลาที่จำกัด อย่างน้อยกำไรหลักๆของเรามีทุกวันแน่นอน เพียงแต่ว่าก่อนการลงทุนนั้น เราจะต้องทำการสืบความนิยมของผู้บริโภคให้ดี และที่สำคัญจะต้องแน่ใจว่าแฟรนไชส์ที่เราซื้อมาลงทุน มีคุณภาพเป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภค เพราะถ้าหากเราซื้อแฟรนไชส์มาแล้วแต่ผู้บริโภคไม่นิยมสิ่งนี่แหละที่จะทำให้เราขาดทุน แล้วคงต้องเริ่มนับหนึ่งเก็บเงินออมอีกครั้ง ดังนั้นการซื้อแฟรนไชส์มาลงทุนผู้ลงทุนจะต้องเผื่อใจไว้ 50: 50 นั่นคือโอกาสขาดทุนและได้กำไรมีความเสี่ยงเท่ากัน

2. การนำเงินออมไปลงทุนซื้อหุ้น กรณีนี้มีความเสี่ยงอยู่ 2 ทาง คือ รวย และเกือบรวย เพราะการนำเงินไปซื้อหุ้นแต่ละครั้ง จะต้องใช้เงินจำนวนมากพอสมควร เพื่อให้เราได้เงินปันผลจำนวนมากพอ ยกตัวอย่างเช่น กรณีซื้อหุ้นเพื่อหวังผลกำไรระยะยาว ผู้ซื้อจะต้องตรวจสอบฐานเศรษฐกิจของบริษัทนั้นๆให้ดี จะต้องมั่นใจว่าบริษัทที่เราจะซื้อหุ้นไม่มีวันล้มเลิกกิจการ แต่ในขณะเดียวกันเมื่อบริษัทมีฐานเศรษฐกิจที่มั่นคงราคาขายหุ้นต่อหน่วยก็จะมีราคาที่สูงขึ้นเช่นกัน หากเรามัวแต่คิดว่าจะต้องได้หุ้นเยอะๆ เพื่อหวังปันผลเยอะๆ  ก็ต้องต้องกลับไปคิดใหม่ ว่าทำไมบริษัทนั้นถึงมีราคาขายหุ้นต่อหน่วยถูกกว่าบริษัทอื่น มันอาจเป็นไปได้ว่า ฐานเศรษฐกิจของบริษัทนั้นๆกำลังอ่อนแอลงจึงต้องขายราคาหุ้นให้ถูก เพราะราคาหุ้นถูกจะเป็นตัวกระตุ้นให้คนซื้อมีความสนใจอยากได้หุ้นมากๆ ฉะนั้นเราจะต้องตรวจสอบฐานเศรษฐกิจของบริษัทที่เราจะซื้อหุ้นให้ดี ในขณะเดียวกัน  ทุกชีวิตมีการเปลี่ยนแปลงเราไม่รู้ว่าอนาคตข้างน่าจะเป็นอย่างไร หากวันหนึ่งเราร้อนเงินขึ้นมา แล้วอยากได้เงินที่นำไปลงทุนหุ้นคืน เราก็ต้องประกาศขายหุ้นของเรา จะไปบอกบริษัทว่าเราขอคืนหุ้นไม่ได้ และยิ่งราคาต่อหน่วยของหุ้นขณะนั้นลดลง เงินทุนที่จะได้คืนครบทุกบาททุกสตางค์ก็จะเป็นไปได้ยาก สมมุติเหตุการณ์ ยกตัวอย่างเช่น

ณ วันที่เราซื้อหุ้น  ราคาต่อหน่วย 100 บาท เราซื้อ 1,000  หุ้น ก็จ่ายค่าหุ้น  100,000  บาท สิ้นปี ได้ปันผล หุ้นละ 5 บาท  ก็จะได้เงินปันผลต่อปีรวม 1,000 x 5 เท่ากับ 5,000 บาท  แต่ในปีถัดไปราคาหุ้นตก เงินปันผลก็จะน้อยลง อาจจะเหลืออยู่ที่หุ้นละ 3 บาท กลายเป็นว่าปีถัดไปได้เงินปันผล 3,000  บาท เพราะราคาหุ้นตกบริษัทได้กำไรน้อย  หากยังจ่ายปันผลเท่าเดิมบริษัทก็จะอยู่ไม่ได้แบบนี้เป็นต้น อีกกรณีสำหรับผู้ที่คิดจะลงทุนซื้อหุ้นโดยเน้นปันผลระยะยาว นั้นคือไม่มีการขายหุ้นก็จะต้องใช้ความอดทน  ใช้เวลานาน และต้องมั่นใจว่าอนาคตจะไม่เดือนร้อนเรื่องเงิน เพราะ การลงทุนซื้อหุ้นเพื่อเงินปันผลระยะยาว จะต้องไม่มีการขายหุ้น และจะต้องใช้เงินลงทุนซื้อหุนจำนวนมาก เพื่อให้ได้เงินปันผลที่คุ้ม เช่น ซื้อหุ้นบริษัทน้ำมัน ราคามีแต่ขึ้นเรื่อยๆ เพราะขายน้ำมันไม่มีวันขาดทุนแน่นอน สมมุติว่า ซื้อหุ้นละ 300 บาท 100 หุ้น รวมเป็นเงิน 30,000 บาท  ในขณะเดียวกันตัวเราก็มั่นใจว่า  อีก 5 ปีข้างหน้า ราคาหุ้นมันจะต้องมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็นหุ้นละ 1,000 บาท  เพื่อที่จะทำกำไรจาก 30,000 บาท เป็น 100,000 บาท หากหักทุน 30,000 บาท เราก็จะกำไร 70,000 จากการขายหุ้น  และหากไม่ขายเราเองก็ยังจะได้เงินปันผลทุกปี  สิ่งนี้ก็จะเป็นเหมือนการออมอย่างหนึ่ง  เป็นต้น ดังนั้น ตัวเราเองจะต้องเก่งในเรื่องของการดูว่า มีบริษัทอะไรที่น่าติดตาม   ถ้าหากเราคิดลงทุนเกี่ยวกับหุ้นเราจะต้องมั่นใจว่าบริษัทที่เราซื้อหุ้นไม่มีวันปิดตัวแน่นอน ถึงจะกล้าเสี่ยง กล้าลงทุน  และในขณะเดียวกันถ้าหุ้นที่เราซื้อเพื่อเก็งกำไรมีราคาตกหล่นมาอยู่ที่หุ้นละ 250 บาท เงินที่ลงทุนไป 30,000 บาท ก็จะขาดทุนไป 5,000 เหลือเพียง 25,000    หากราคาหุ้นดิ่งลง โอกาสที่จะกลับมาเพิ่มขึ้น หรือเท่าเดิมก็มีน้อยลง ฉะนั้นการลงทุนด้วยการซื้อหุ้น เราจะต้องกล้าได้ กล้าเสีย และกล้าเสี่ยง

3. การลงทุนด้วยทองคำ การลงทุนด้วยทองคำนั้นมีอยู่ 2 รูปแบบ คือลงทุนด้วยทองคำแท่ง วิธีนี้จะไม่เสียค่ากำเหน็จในการซื้อขาย แต่อาจจะต้องเสียค่าเก็บรักษาดูแลอย่างปลอดภัย โดยนำไปเก็บไว้ในตู้เซฟกับธนาคาร ส่วนวิธีที่สองคือการลงทุนด้วยทองคำรูปพรรณ วิธีนี้จะเสียค่ากำเหน็จในการซื้อขาย แต่สามารถนำมาใส่เป็นเครื่องประดับตกแต่ง ให้เราดูดีในบางโอกาสได้  การลงทุนด้วยทองนั้นค่อนข้างมีความเสี่ยงอยู่พอสมควร เพราะหากราคาทองดิ่งตัวลง และเราเองก็ยังไม่มั่นใจที่จะขายทองโอกาสที่จะได้กำไรสูงนั้นก็จะลดลง ดังนั้น การลงทุนด้วยทองคำผู้ลงทุนจะต้องมองสถานการณ์ให้ออก รู้จุดแข็งจุดอ่อนของแนวโน้มราคาทองคำที่เพิ่มขึ้นและลดลง คนส่วนใหญ่มักจะลงทุนกับทองคำรูปพรรณเพราะสามารถนำมาสวมใส่เป็นเครื่องประดับได้ สามารถขายฝากยามฉุกเฉินได้ แต่ในขณะเดียวกันเมื่อต้องการขายทองคำรูปพรรณราคารับซื้อนั้นจะถูกมาก ตรงข้ามกับการขายทองคำแท่งซึ่งจะขายได้ราคาดีกว่าทองรูปพรรณเพราะไม่ต้องเสียคำกำเหน็จ

กรณีที่สอง การลงทุนเงินออมให้เป็นรายได้ที่ไม่มีความเสี่ยง กรณีนี้เงินงอกเงย กำไร รายได้ที่ลงทุนไป จะได้น้อยกว่า ใช้เวลานานกว่า เพราะไม่มีความเสี่ยง เนื่องจากเป็นการทำเงินออมให้เป็นเงินออมที่ออกดอก ออกผล แม้ว่าผลและดอกนั้นจะได้น้อยได้ช้า แต่รับรองว่าได้ชัวร์ มีแต่ได้กับได้ไม่มีเสีย เรามาดูกันว่าจะทำอย่างไรถึงจะให้เงินออมออกดอก ออกผล มีแต่ได้กับได้ ซึ่งมีอยู่สองลักษณะ คือ

1. การนำเงินไปซื้อสลาก เช่น สลากธกส. หรือ สลากออมสิน  ที่แนะนำให้ซื้อสลากเพราะว่า เราสามารถเสี่ยงรางวัลในแต่ละเดือน ซึ่ง 1 เดือน เรามีโอกาสได้รางวัล 1 ครั้ง รางวัลที่ว่าคืออะไร ก็คือการลุ้นรางวัลเหมือน สลากกินแบ่งรัฐบาล แต่สลากที่เราซื้อเงินจะไม่สูญเปล่าเหมือนสลากกินแบ่งรัฐบาล เมื่อครบกำหนดเราสามารถถอนเงินต้นที่เราฝากคืนได้แถมยังได้ดอกเบี้ยอีกด้วย นี่คือ การลงทุนที่ไม่มีความเสี่ยงเลยมีแต่ได้กับได้ เพียงแต่ได้น้อย ได้ช้าเท่านั้นเอง ซึ่งเราของยกตัวอย่างการซื้อสลากของธนาคารออมสิน  การซื้อสลากออมสิน คือการออมเงิน โดยผู้ฝากจะได้รับดอกเบี้ยตามอัตราที่กำหนด และมีสิทธิ์ลุ้นรางวัลทุกเดือน เมื่อครบกำหนดจะได้เงินต้นคืนพร้อมดอกเบี้ยแบบคุ้มแล้วคุ้มอีก ซึ่งสลากออมสินนั้นมีอายุ 3 ปี 

หลักการของการลงทุนด้วยสลากออมสินมีดังนี้  

          1. ราคาสลากออมสิน ขายหน่วยละ 50 บาท

          2. ฝากครบ 3 เดือน ไม่ครบ 1 ปี   ไม่ได้ดอกเบี้ย

          3. ฝากครบ 1 ปี  แต่ไม่ครบ 2 ปี    ได้ดอกเบี้ย  0.50  บาท ต่อ หน่วย

          4. ฝากครบ 2 ปี  แต่ไม่ครบ 3 ปี    ได้ดอกเบี้ย   1.125  บาท ต่อ หน่วย

          5. ฝากครบ 3 ปี    ได้ดอกเบี้ย   3  บาท ต่อ หน่วย

          6. ถอนก่อนครบ 3 เดือน หักส่วนลด 1 บาท/หน่วย

          ยกตัวอย่างเช่น  นายเอ มีเงิน 10,000 บาท  จะซื้อสลากออมสินได้ 200  หน่วย ในช่วงเวลา ไม่ถึงสามเดือน หากนายเอต้องการขายสลากออมสินคืน นายเอจะต้องถูกหักเงิน 200 บาท เพราะถอนก่อนกำหนด แต่หากครบ 1 ปี นายเอจะได้เงินดอกเบี้ย  100    ครบ 2 ปี   ได้ดอกเบี้ย  225 บาท   และครบ 3 ปี  ได้ดอกเบี้ย  600  บาท  เมื่อครบกำหนด 3 ปีสามารถถอนได้ 10,600  บาท เป็นต้น

2.การฝากเงินแบบประจำ  การฝากเงินแบบประจำนี้ได้ดอกเบี้ยสูง  แล้วแต่ธนาคารแต่ละที่จะกำหนด โดยส่วนใหญ่ดอกเบี้ยจะไม่ต่างกันมากแต่โดยรวมแล้วจะแข่งขันในเชิงของสิทธิ์สำหรับผู้ฝาก กล่าวคือ ผู้ฝากสามารถถอนได้ตลอด หรือห้ามถอนโดยเด็ดขาด ซึ่งกรณีนี้ทางธนาคารจะเป็นผู้กำหนด อย่างเช่น ธนาคารออมสิน ฝากประจำ 3 เดือน ได้ดอกเบี้ย 2.00 %  ฝากประจำ 6 เดือน   ได้ดอกเบี้ย  2.25 %  ฝากประจำ 12 เดือน  ได้ดอกเบี้ย 3.00 % 

         ตัวอย่าง  นายเอมีเงิน  100,000    บาท  เมื่อนำไปฝากประจำ 3 เดือน  นายเอจะได้อัตราดอกเบี้ย ดังนี้ ฝากประจำ 3 เดือน ได้ดอกเบี้ย 1.875 %  (100,000 x 1.875 %  = 1,875)  ครบ 3 เดือน นายเอถอนได้เงิน 101,875   บาท  เป็นต้น (สามารถตรวจดูอัตราดอกเบี้ยของธนาคารออมสินได้ที่เว็บไซต์  www.gsb.or.th)

         จากรายละเอียดที่กล่าวมาทั้งหมด หลายๆท่านคงจะวางแผนการออมเงินของตนเองได้แล้ว ขอให้ทุกท่านโชคดีกับการออมเงินที่ได้ผลกำไรที่สูง สร้างเงินเดือนให้เป็นรายได้ที่เพิ่มขึ้น