ทำไมถึงเรียกว่า ฟันคุด
ฟันคุด คือ ฟันที่ไม่สามารถขึ้นตามปกติได้เหมือนฟันซี่อื่นๆ ฟันซี่ที่ผิดปกตินี้จะเป็นฟันซี่สุดท้ายของ กรามบน และกรามล่าง ทั้งด้านซ้ายและด้านขวา โดยตามธรรมชาติฟันของคนเราจะมีทั้งหมด 32 ซี่ เมื่อฟันขึ้นครบ 28 ซี่ ฟันซี่ในสุดที่เหลือ 4 ซี่ จะพยายามขึ้นให้ครบตามธรรมชาติ แต่เนื่องจากสรีระของมนุษย์ที่แตกต่าง ฟันซี่สุดท้ายที่ขึ้นมักจะมีความผิดปกติ ฟันอาจฝังตัว ในกระดูกขากรรไกร ด้วยลักษณะต่างๆกัน เช่น ฟันนอนตะแคง ฟันเอียง ฟันขวางโดยมากจะเกิดกับฟันแท้ซี่สุดท้ายด้านในสุด ลักษณะแบบนี้เราจึงเรียกว่า ฟันคุด
จะทราบได้อย่างไรว่าเราเป็นฟันคุด
เมื่อฟันแท้ขึ้นครบ 28 ซี่ ฟันแท้ 4 ซี่ที่เหลือจะมีโอกาสเป็นฟันคุดได้ โดยเราต้องสังเกตว่า ภายในอายุ 22 ปี หากฟันแท้ขึ้นไม่ครบ 32 ซี่ ให้เริ่มแน่ใจไว้ได้เลยว่าฟันซี่ที่ขึ้นไม่ครบอาจเป็นฟันคุด หรือฟันขึ้นแล้วแต่มีลักษณะไม่โผล่พ้นเหงือกเหมือนฟันซี่อื่นๆ อย่าได้คิดว่าฟันซี่นั้นกำลังจะขึ้น ให้คุณเตรียมใจไว้เลยนั่นคือ ฟันคุด โดยคุณจะต้องไป X – ray ฟันเพื่อดูฟันของตนเองเราก็จะพบว่าฟันแต่ละซี่ มีลักษณะที่ผิดปกติอย่างไร
ผลเสียจากการไม่รักษาฟันคุด
เมื่อเรารู้ตัวว่าเป็นฟันคุดแต่ไม่เข้ารับการรักษา อาจเพราะปัจจัยหลายๆอย่างที่เป็นตัวกระตุ้นให้คุณไม่รู้สึกและคิดว่า ฟันคุด นั้นไม่ได้ร้ายแรง ไม่ได้สร้างความเจ็บปวดขณะที่คุณตรวจพบว่าคุณเป็นฟันคุด คุณจึงปล่อยให้ฟันคุดอยู่ตำแหน่งเดิมไม่ได้ทำการรักษาโดยที่คุณไม่รู้เลยว่า ผลเสียที่จะตามมานั้นมีอะไรบ้าง เมื่อไม่รักษาอาการฟันคุด จะมีผลเสียดังนี้
1. เมื่อตรวจพบฟันคุดก่อนอายุ 22 ปี แต่ไม่เข้ารับการรักษา รากฟันคุดจะเจริญเติบโตขึ้นเรื่อยๆ และฟันคุดจะไปดันฟันแท้ซี่ที่อยู่ใกล้เคียง ทำให้รากฟันแท้ซี่ที่อยู่ใกล้เคียงไม่แข็งแรง 2. ฟันคุดจะโตเต็มที่เมื่ออายุ 25 ปี หากผู้ที่เป็นฟันคุดแล้วไม่รีบทำการรักษาก่อนอายุ 25 ปี จะทำให้การรักษาในภายหลังหายช้ากว่าปกติ
3. การทำความสะอาดฟันคุดไม่ทั่วถึง ทำให้ฟันผุได้ง่าย โดยเฉพาะอาจส่งผลเสียต่อฟันแท้ซี่ที่อยู่ติดกับฟันคุด
4. บริเวณที่เป็นฟันคุดมักมีอาการ ปวด บวม อักเสบของเหงือก เมื่อผู้ที่มีอาการปวดอักเสบเหงือก บริเวณฟันคุด กินยาแก้ปวด แก้อักเสบ แม้จะหายปวด แต่สุดท้ายก็กลับมาเป็นอีก แล้วจะเป็นแบบนี้ซ้ำๆ ส่งผลเสียต่อสุขภาพ
5. เมื่อถึงเวลาปวดบวมบริเวณฟันคุด จนถึงขั้นต้องเข้ารับการรักษาจากทันตแพทย์ แต่ฟันคุดมีอายุมากเกิน 25 ปี จะทำให้การรักษาหายยาก และปวดบวมนานกว่าปกติ หรือเหงือกอักเสบนานกว่า 1 สัปดาห์
การเตรียมตัวก่อนการรักษาฟันคุด
เมื่อรู้ตัวว่าเราเป็นฟันคุดจะต้องเตรียมใจไว้เลยว่าอย่างไรเสีย ก็จะต้องได้ผ่าออกบางคนคิดว่าถ้าไม่ปวดก็เป็นไรหรอก มันไม่มีอะไรมากหรอก ขอบอกเลยว่าคุณคิดผิด เพราะตราบใดที่คุณปล่อยฟันคุดไว้นานการรักษาก็จะยิ่งลำบากขึ้นเรื่อยๆ สาเหตุที่คนส่วนมากไม่ได้ใส่ใจเรื่องฟันคุด เพราะฟันคุดที่เกิดขึ้นใหม่ๆไม่ได้สร้างความเจ็บปวดให้กับคุณ เนื่องจากรากฟันคุดยังไม่โตเต็มที่ ฟันก็ยังปกติไม่ได้เจ็บปวดอะไร คุณจึงไม่ได้สนใจปล่อยมันทิ้งไว้จนกระทั่งวันเวลาผ่านไปฟันคุดเริ่มเจริญเติบโตขึ้นไปเบียดกับฟันด้านข้าง โดยที่คุณไม่รู้ตัวเพราะยังไม่เจ็บปวด จนเมื่อคุณรับประทานอาหารแล้วมีเศษอาหารไปตกลงที่ร่องฟันคุดที่ไปเบียดกับฟันแท้ ทำให้คุณทำความสะอาดรักษายาก หรือรักษาไม่ทั่วถึง และเมื่อรากฟันคุดเจริญเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ก็จะทำให้เรามีอาการเหงือกบวม ปวด และอักเสบ
ขั้นตอนการรักษาฟันคุด
การรักษาฟันคุดให้หายขาดนั้นจะต้องทำการรักษาด้วยวิธีการ ผ่าฟันคุด ซึ่งหากผู้ป่วยมีอาการปวดบวม หรืออักเสบบริเวณที่เป็นฟันคุด ทันตแพทย์จะยังไม่ทำการผ่าฟันคุดในทันที แต่จะให้ยาแก้ปวดมารับประทาน จนอาการทุเลาลง ทันตแพทย์จึงจะทำการผ่าฟันคุด ซึ่งขั้นตอนการผ่าฟันคุดเพื่อการรักษามี ดังนี้
1. ทันตแพทย์ทำการ X-ray ฟันของผู้ป่วย เพื่อดูลักษณะ ตำแหน่ง ของฟันคุด โดยการ X-ray ฟัน จะเป็นแนวทางในการ ผ่าฟันคุด ตามลักษณะที่เกิดขึ้น
2. ก่อนผ่าตัดทันตแพทย์จะฉีดยาชาบริเวณที่จะผ่าฝันคุด
3. ทันตแพทย์จะทำการเปิดเหงือก แล้วทำการแบ่งฟันคุด ออกเป็นส่วนๆ โดยปกติจะแบ่งเป็น 3 – 4 ส่วน เพื่อให้สามารถนำรากฟันคุดออกมาได้ง่าย
4. เมื่อทำการผ่า และนำฟันคุดออกมาได้แล้ว หากการวินิจฉัยจากทันตแพทย์พบว่าฟันคุดซึ่งเป็นฟันซีสุดท้าย ประกบกับฟันกรามซี่สุดท้ายทันตแพทย์จะถอนฟันที่ประกบกับฟันคุดด้วย เพราะเมื่อผ่าฟันคุดออกไปแล้ว หากไม่ถอนฟันกรามที่ประกบกับฟันคุด จะทำให้ฟันกรามซี่นั้นๆ ขบกับเหงือก ทำให้เหงือกอักเสบได้
5. หลังจากผ่าฟันคุดเรียบร้อยแล้ว ทันตแพทย์จะทำการล้างแผล และทำการเย็บเหงือกเข้าด้วยกัน โดยจะนัดผู้ป่วยมาตัดไหมหลังจากผ่าฟันคุด 7 วัน
ข้อปฏิบัติหลังการถอนฟันคุด
1. กัดผ้าก๊อซแน่นๆ ประมาณ 1 -2 ชั่วโมง
2. ห้ามบ้วนน้ำหรือน้ำลายภายหลังการถอนฟัน 1 วัน
3. ห้ามอมน้ำแข็ง ใช้ลิ้นดุนหรือดูดแผล
4. งดสูบบุหรี่ และดื่มสุราประมาณ 2 – 3 วัน
5. ภายใน 24 ชั่วโมงหลังถอนฟัน ให้ใช้น้ำแข็งหรือผ้าเย็นประคบด้านนอก (ข้างแก้ม)
6. หลังถอนฟัน 24 ชั่วโมงให้ประคบด้วยน้ำอุ่น
7. ถ้ามีอาการปวดหรือบวมมากให้กลับมาพบแพทย์
8. ตัดไหมหลังถอนฟัน 1 สัปดาห์
ตัวอย่าง ประสบการณ์จริงจากผู้ที่เข้ารับการผ่าฟันคุด
1. ทำการ X – ray ฟัน เพื่อดูตำแหน่งของฟันคุด จากภาพ X –ray ผลการวินิจฉัยของแพทย์มีดังนี้
1.1 ตำแหน่งฟันคุด คือ ฟันกรามซี่สุดท้าย ด้านซ้าย มีลักษณะเป็นฟันนอน
1.2 ตำแหน่งฟันคุด และฟันกรามบนซี่สุดท้าย ด้านซ้าย ประกบกัน จะต้องทำการถอนฟันกรามซี่สุดท้ายของด้านบนด้วย หากไม่ถอนฟันกรามบนจะขบกับเหงือก ทำให้เหงือกอักเสบ
2. ลักษณะของฟันคุด เป็นการผ่าฟันคุด โดยแบ่งฟันออกเป็น 3 ส่วน เพื่อให้ง่ายต่อการนำรากฟันคุดออกมา
3. ฟันกรามบนซี่สุดท้าย ด้านซ้าย ถอนหลังจากทำการผ่าฟันคุด และเย็บแผลจากการผ่าฟันคุดเรียบร้อยแล้ว
4. หมอจะทำการดูดเลือดฟัน และล้างทำความสะอาดฟัน จากนั้นให้ผู้ป่วย กัดผ้าก๊อซให้แน่น เพื่อห้ามเลือดให้หยุดไหล
5. ผู้ป่วยจะได้รับยามารับประทาน ดังนี้
1. ยาแก้อักเสบ amoxicillin 500
2. ยาแก้ปวด ลดบวม
3. ยาแก้ปวดลดไข้ พาราเซตามอล
6. ราคาในการรักษา ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2557
1. ผ่าฟันคุด ซี่ละ 2500 บาท
2. ถอนฟันซี่ละ 500 บาท
3. X – ray ฟัน ฟิลม์ละ 350 บาท
4. ยาแก้อักเสบ Amoxy 500 20 เม็ด 2 แผง 100 บาท
5. ยาแก้ปวด 20 เม็ด 50 บาท
6. ยาลดไข้ 10 เม็ด 50 บาท
รวมค่ารักษา 3,550 บาท
7. ผลข้างเคียงหลังการผ่าฟันคุด
1. เข้ารับการเกลารากฟัน ซี่ที่ถูกฟันคุดเบียด 6 เดือน ต่อ 1 ครั้ง ครั้งละ 1,000 บาท
2. ขูดหินปูนฟันทุกซี่ 700 บาท ทำทุก 6 เดือน หรือ 1 ปี ตามความแข็งแรงของฟันผู้ป่วย